วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิประกันสังคมสำหรับคนที่ออกจากงาน

...เมื่อเราเข้าเป็นลูกจ้างของบริษัท เราได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคมโดยอัตโนมัติ...

...แต่เมื่อเราออกจากงาน สิทธิการเป็นผู้ประกันตนของเราก็มิได้สิ้นสุดตามไปด้วย...

ทันทีที่เข้าทำงานเป็น ลูกจ้างของบริษัท เงินเดือนของเราส่วนหนึ่งจะถูกหักเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งจะทำให้เราได้รับการคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมใน 7 กรณี คือ
ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

เมื่อเราออกจากงาน ก็ใช่ว่าสิทธิประกันสังคมของเราจะสิ้นสุดลงทันที แม้เราเจ็บไข้ได้ป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร หรือเสียชีวิต ภายใน 6 เดือนหลังจากออกจากงาน เรายังได้รับ
การคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมอยู่ แต่หากเรากลับเข้าไปเป็นลูกจ้างอีกครั้งหนึ่ง เราก็จะกลับมาได้รับสิทธิทั้ง 7 อย่างเช่นเดิม

สำหรับบางคนที่ออกจากงานมาประกอบอาชีพส่วนตัว เมื่อสิทธิประกันสังคมสิ้นสุดลงหลังจาก 6 เดือนที่ออกจากงานแต่ยังต้องการได้รับสิทธิประกันสังคมต่อ เรายังสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ
มาตรา 39ได้ โดยส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท เราก็จะได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครองใน 6 กรณี ได้แก่

1. ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วย
2. ทุพพลภาพ
3. ตาย
4. คลอดบุตร
5. สงเคราะห์บุตร
6. ชราภาพ

โดย ในเงินจำนวนนี้แบ่งเป็น 144 บาท สำหรับใช้เป็นสิทธิประโยชน์ยามเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต และอีก 288 บาท เป็นเงินออมกรณีชราภาพ ซึ่งเราจะได้รับเงินออมคืนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ไม่น่าเชื่อเลยว่า เงินสมทบที่เราต้องจ่ายทุกเดือนกว่าครึ่งจะกลายเป็นเงินออมในอนาคตของเรานั่นเอง

เริ่ม เห็นความน่าสนใจของการเป็นผู้ประกันตนแล้วใช่ไหม ทีนี้เราลองมาดูคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39 กันบ้าง สำรวจตัวเองไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า ด้วยการ
ตอบคำถามต่อไปนี้

1. คุณเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนใช่หรือไม่
2. คุณได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างมาแล้วไม่เกิน 6 เดือนใช่หรือไม่
3. คุณมิได้เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคมใช่หรือไม่

หากคำตอบทุกข้อคือ ” ใช่” เตรียมหลักฐานต่อไปนี้ แล้วไปสมัครรับสิทธิด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง

1. แบบคำขอเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 (สปส.1-20)
2. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา

ตาม เงื่อนไขของการเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39 ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบในอัตราเท่ากันทุกเดือนเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่ม
ร้อยละ 2 ต่อเดือน โดยสามารถส่งเงินสมทบได้ 4 วิธี คือ

1. จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด
2. จ่ายเงินทางธนาณัติหรือจ่ายผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศ
3. ส่งผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารนครหลวงไทย
4. เปิด บัญชีออมทรัพย์และให้ทางธนาคารหักจากบัญชีธนาคารกรุงไทยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกสิกรไทย (มีค่าธรรมเนียมในการหักบัญชีเดือนละ 10 บาท)

หากเราไม่ส่งเงินสมทบตามกำหนดอย่าง สม่ำเสมอ เราอาจสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ ถ้าเราไม่อยากเสียสิทธิดังกล่าว จงอย่าขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน เพราะจะสิ้นสุดการเป็น
ผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ และหากส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนภายในระยะเวลา 12 เดือน จะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบเก้าเดือน

นอก จากการไม่ส่งเงินสมทบตามกำหนดแล้ว การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังสามารถสิ้นสุดลงได้เนื่องจากสาเหตุอื่นด้วย คือ ผู้ประกันตนเสียชีวิต หรือกลับไปเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือลาออก
จากมาตรา 39

เห็น ไหมว่า ถึงเราจะออกจากงาน เราก็ยังสามารถได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคมอยู่ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ยากเลย หากสมาชิกท่านใดต้องการสมัครใช้สิทธิดังกล่าวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่ม เติมได้ที่
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น