วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

HAYABUSA

บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด

เห็นบางคนไม่ค่อยเชื่อว่ารถซุปเปอร์ไบค์มันมี ความเร็วขนาดนี้จริงๆ ผมเลยขอนำเสนอ SUZUKI HAYABUSA 1300 cc. เจ้าเหยี่ยวทะเลทราย ที่มีความเร็ว 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นชื่อว่าเป็นรถจักรยานยนต์ standard (คือ รถที่ทำขายตามท้องตลาดทั่วโลก) ที่เร็วที่สุดในโลก

ย้อนอดีตกันสักหน่อย เพื่อปูพื้นตำนานความยิ่งใหญ่ของ “ฮายาบูสะ”
จากเดิม ที่รถคลาสใหญ่ยักษ์ของค่ายญี่ปุ่น ซึ่งมีการต่อสู้ในเรื่องความเป็นที่สุดกันมาก่อนหน้าปี 1998 ในช่วงก่อนหน้านั้น ก็มี Kawasaki ZZR1100 ที่เป็นโปรดัคชั่นไบค์ที่ครองสถิติเร็วที่สุดในโลก จนโดนค่ายปีกนก เข็น CBR1100XX นกยักษ์ลงมาทุบสถิติในช่วงปี 1998 และในช่วงปลายปี 1998นั่นเอง ที่ค่ายซูซูกิ ได้สร้างเซอร์ไพรส์ ช๊อคนักเลงรถทั่วโลกด้วย เจ้าเหยี่ยวทะเล GSX1300R Hayabusa ออกมาทุบทุกค่ายด้วยสถิติใหม่ ใหญ่กว่าทั้งซีซี แรงม้า รวมไปถึงท๊อปสปีดบนรถถนนแบบสแตนดาร์ด
ฮายาบูสะ นั้น เริ่มสายการผลิต และจำหน่ายเป็นโมเดลแรก ในปี 1999 นับจนถึงปัจจุบันนี้ก็เกือบจะสิบปีได้ ซึ่งเหตุผลของการผลิต ฮายาบูสะ นั้น ก็เพื่อจะช่วงชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศ “เจ้าแห่งความเร็ว” ของรถโปรดักชั่นไบค์ ที่เร็วที่สุดในโลก ซึ่ง ในคลาสนี้ เรียกได้ว่า ถ้าเป็นมวยก็คือรุ่นเฮพวี่เวท ที่ทุกคนจับตามองว่าใครนะ ที่จะมาครองบังลังก์ เจ้าแห่งความเร็ว นั้น
ดังนั้น...ทุกค่ายทุกผู้ผลิต, จะระดมคัดสรรมันสมองระดับกะทิหัวๆ เพื่อมาสุมหัวกันทั้งออกแบบ, ถกเถียง, และช่วยกันผลิต รถที่จะกลายมาเป็นตำนานในหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของโลกบิ๊กไบค์ การผลิตรถเพื่อบรรจุอยู่ในกลุ่ม ซุปเปอร์สปอร์ต นี้ เป็นทั้งในเชิงธุรกิจ และ ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นการประกาศความล้ำเลิศในทางเทคโนโลยี ของค่ายรถนั้นๆ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า..ทำไมรถในคลาสนี้จึงค่อนข้างที่จะมีการปรับเปลี่ยนราย ละเอียดต่างๆ น้อย หลังจากที่ได้ออกโมเดลแรกมา นั่นก็เพราะเนื่องจากว่า..ทุกอย่างที่ถือว่าเป็นที่สุด ได้ถูกบรรจุลงไปในรถหนึ่งคันแล้วตั้งแต่เริ่มต้น....ตามคติที่ว่า....เสีย เงินตูไม่ว่า..แต่เสียหน้าข้าไม่ยอม....
ต้องยอมรับว่า ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมานี้, ไม่มีใครมาสั่นคลอนบังลังก์ของ เดอะคิง ฮายาบูสะ ไปได้ ฮายาบูสะครองความยิ่งใหญ่ในตำแหน่งเจ้าแห่งความเร็วสูงสุดมาเป็นระยะเวลาอัน ยาวนาน จนมาเมื่อช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมานี้เอง ที่มียักษ์ใหญ่หน้าปลาดุก 1400 cc. จากค่ายคาวาซากิ ที่มาท้าชิง บังลังก์แห่งเกียรติยศ นี้ แต่ก็มาเขย่าเก้าอี้ได้แต่เพียงประเดี๋ยวประด๋าว เพราะไม่ทันชั่วเคี้ยวหมากแหลก ซูซูกิ ก็ตอบโต้อย่างทันควันด้วยการเปิดตัว เดอะนิว “ฮายาบูสะ 2008” ที่หลายๆ คนรอคอย

มาเข้าเรื่องกันเลยครับ...
ฮายาบูสะ โฉมใหม่ ปี 2008 นี้ ได้ถูกปรับเปลี่ยนรายละเอียดค่อนข้างเยอะพอสมควร นับกันตั้งแต่หน้าตาภายนอกไปจนถึงรายละเอียดภายใน แต่ต้องขอบคุณทางทีมงานวิศวกรผู้ออกแบบ “ฮายาบูสะ” ใหม่นี้ ให้คงความเป็นฮายาบูสะไว้ คือยังมีความเกี่ยวเนื่องของรูปลักษณ์กับโมเดลก่อนหน้านี้ ซึ่งเสน่ห์ของรถคลาสนี้ก็คือ การมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เปลี่ยนรูปโฉมให้หวือหวาตามสมัยนิยม เหมือนกับรถคลาส 1000 ซีซี แต่การปรับลุคก็ทำออกมาได้ดี (ส่วนจะโดนใจใคร หรือไม่อย่างไรนั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคล)
มาเริ่มกันที่ภายนอกก่อน....ไฟหน้ายังคงเอกลักษณ์ความเป็น “ฮายาบูสะ” ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ได้เพิ่มมุมแหลมมุมโค้งเพื่อให้ดูโฉบเฉี่ยวขึ้น รวมไปถึงไฟเลี้ยวที่อยู่ข้างแรมแอร์ ที่ถูกปาดให้ทันสมัยขึ้น มีส่วนโค้งเว้าที่เพิ่มขึ้น
ระบบเบรคหน้า..ถูกเปลี่ยนให้เป็นเรเดียลเบรค ถัดมาในส่วนตัวถังและแฟริ่ง แฟริ่งเป็นแบบสมัยใหม่คือมีหลายชิ้นประกอบกัน ถังน้ำมันมีการเพิ่มมุมและขอบมากขึ้นกว่ารุ่นเดิมที่จะออกโค้งๆ มนๆ ซึ่งก็จะรวมไปถึงตูดมดด้านท้ายที่จะเพิ่มมุมและขอบมากขึ้นเช่นกัน
ที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมากคือ บั้นท้าย ที่ไฟเลี้ยวถูกออกแบบใหม่ให้อยู่ในฝาครอบเรียบร้อย และไฟท้ายที่ดูโฉบเฉี่ยวมากขึ้น และ ที่ลืมไม่ได้คือ ท่อไอเสียที่กลายมาเป็นทรงสามเหลี่ยมมนๆ สีดำดุๆ เป็นที่โดนใจใครต่อใคร
ทีนี้มาดูรายละเอียดทางเทคนิคกันบ้างดีกว่า....
สรุปโดยรวมของความเปลี่ยนแปลงของ “ฮายาบูสะ” คือ..รูปโฉมที่ปรับเปลี่ยนใหม่ให้ทันสมัยขึ้น มีการปรับขนาดเครื่องยนต์และปรับปรุงในรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างตัวถังก็ถูกปรับปรุง
การออกแบบแฟริ่งและตัวถังโดยรวม ยังคงแนวคอนเซปท์ตั้งแต่การเริ่มสร้าง ฮายาบูสะ ตั้งแต่เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว คือ ออกแบบให้รับกับหลักการอากาศพลศาสตร์ให้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายการค้า ของ ฮายาบูสะ มาแต่ไหนแต่ไร ไม่ต้องพูดถึงความหล่อเหลาที่มาพร้อมกับดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะในรุ่นปี 2008 นี้ แฟริ่งถูกออกแบบให้เป็นแบบสองชิ้นประกบ ทำให้ดูดีทั้งความหล่อในการเล่นสีทูโทนและในแงการถอดเปลี่ยนอะไหล่ยามเสีย หาย
เครื่องยนต์ก็ถือว่าเป็นอีกส่วนที่ได้นำเทคโนโลยี่ใหม่ล่าสุดมาบรรจุไว้ นั่นคือ ระบบการทำงาน 3 แบบ ที่ผู้ขับขี่สามารถเลือกได้ว่าต้องการการทำงานของเครื่องยนต์ในแบบใด

เครื่องยนต์
- เครื่องยนต์ขนาดใหม่ ปริมาตรความจุ 1340 ซีซี,( โมเดลแรก 1299 ซีซี) โดยยังเป็นระบบ ดับเบิ้ล โอเวอร์เฮดแคมชาพท์ DOHC เช่นเดิม โดยมีวาล์วทั้งไอดีไอเสีย 16 วาล์ว มีการออกแบบห้องเผาไหม้ใหม่เพื่อให้สามารถผลิตได้ทั้งกำลังที่เพิ่มขึ้นและ การทำงานของเครื่องยนต์ที่เรียบขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งผลิตม้าขึ้นมาได้ถึง 198 แรงม้า (ว้าว.....แต่ยังไม่ผ่านการยืนยันอย่างเป็นทางการนะครับ.)
- ระบบหัวฉีดน้ำมันถูกพัฒนาขึ้น โดยใช้ระบบหัวฉีดคู่ต่อหนึ่งลูกสูบ
- ระบบใหม่ล่าสุด “S-DMS” (Suzuki Drive Mode Selector) หรือระบบที่ให้ผู้ขับขี่เลือกได้จากทั้งหมด 3 แบบของการทำงานเครื่องยนต์ ขึ้นอยู่กับสภาพการขับขี่ขณะนั้นหรือความต้องการเฉพาะในเวลานั้น
- ออกแบบวาล์วไอดี-ไอเสีย ให้มีน้ำหนักเบาขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งแน่นอน ก็ต้องเลือกใช้วัสดุที่สุดยอดซึ่งนั่นก็คือ ไทเทเนียม
- ลูกสูบทำจากอลูมินั่มอัลลอยด์ใหม่ ที่มีน้ำหนักเบา โดยมีการปรับเปลี่ยนทั้งรูปทรงและออกแบบให้รับกับแรงอัดที่มากขึ้นเพื่อ หน้าที่ในการผลิตกำลังม้าให้มากที่สุดในทุกๆ รอบเครื่องยนต์
- ออกแบบกระบอกสูบใหม่ โดยใช้ชื่อว่า SCEM (Suzuki Composite Electro-Chemical Material) โดยออกแบบให้บางลงและเป็นวัสดุชนิดพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดขนาดโครงสร้างของกระบอกสูบและปรับปรุงในเรื่องการกระจายความ ร้อนได้ดีขึ้น และยังปรับปรุงในเรื่องระบบโซ่ราวลิ้นใหม่ซึ่งทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้ เงียบขึ้น
- ปรับปรุงระบบการไหลเวียนของอากาศภายในกระบอกสูบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องยนต์มากขึ้น
- ปรับปรุงรังผึ้งหม้อน้ำให้เรื่องของมุมโค้งและระบบพัดลมระบายความร้อนคู่ควบ คุมการทำงานโดยคอมพิวเตอร์ ทำให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น รวมทั้งออยล์คูลเลอร์ที่เพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้กระจายความร้อนได้ดี ขึ้น
- ปรับปรุงระบบไอเสียโดยเน้นในเรื่องของการกรองไอเสียเพื่อลดมลภาวะ เป็นหลัก เป็นท่อคู่ทรงสามเหลี่ยม (เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเราเท่าไหร่ เพราะถ้าได้มา คงเปลี่ยนท่อสูตรอยู่ดี)
- ปรับปรุงวัสดุที่ใช้ทำก้านลูกสูบให้มีความทนทานมากขึ้น
- ปรับปรุงวัสดุแหวนลูกสูบซึ่งช่วยให้ลดแรงเสียดทานและการบริโภคน้ำมันเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มอายุการใช้งาน ของแหวนลูกสูบ
- ระบบเกียร์แบบ 6 สปีด ที่ปรับปรุงการทำงานของระบบคลัทช์เพื่อให้การเปลี่ยนเกียร์จากเกียร์สูงไปเกียร์ต่ำนิ่มนวลมากขึ้น

- แฟริ่งถูกออกแบบให้ได้ตามหลักอากาศพลศาสตร์ โดยให้ลดแรงเสียดทานจากอากาศมากที่สุด ซึ่งก็ถือเป็นจุดเด่นในการออกแบบและดีไซน์แฟริ่งของฮายาบูสะมาแต่ไหนแต่ไร และยังออกแบบได้ดูสวยงามแข็งแรงอีกด้วย
- โช็คอัพหน้าแบบหัวกลับ ปรับความแข็งได้ โดยแกนโช็คอัพได้รับการเคลือบวัสดุพิเศษ DLC (Daimond Like Carbon) เพื่อลดแรงเสียดสีและทำให้ซับแรงสะเทือนได้เหมาะกับทุกสภาพการขับขี่
- โช็คอัพหลังแบบปรับความแข็งได้
- โครงสร้างเฟรมตัวถังหลักยังเหมือนเดิม ทำจากอลูมินั่มอัลลอยโดยเน้นให้มีน้ำหนักเบาแต่ยังคงความแข็งแรงสูงสุด
- สวิงอาร์มทำจากอลูมินั่มอัลลอย โดยออกแบบใหม่ให้มีความแข็งแรงมากขึ้นและช่วยเพิ่ม grip ของยางหลัง รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งกำลังลงที่ล้อหลังดีขึ้น
- เบรคหน้าเปลี่ยนเป็นเรเดียลเบรค โดยที่สามารถใช้งานได้กับจานเบรคขนาดเพียง 310 มม. เพื่อลดน้ำหนักที่ไม่จำเป็นและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการขับขี่ให้ดี ขึ้น แต่คาลิปเปอร์เปลี่ยนจาก 6 ลูกสูบ เป็น 4 ลูกสูบ
- เบรคหลังยังคงเป็นระบบเดิมแต่เพิ่มขนาดจานเบรคให้ใหญ่ขึ้นเป็น 260 มม. และเปลี่ยนจาก 2 ลูกสูบ เป็นลูกสูบเดียว
- เบาะคนซ้อนท้ายรวมทั้งโครงสร้างเฟรมในส่วนนั้นถูกลดระดับให้ต่ำลงเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนซ้อนมากขึ้น
- ความสูงของถังน้ำมันถูกลดระดับให้ต่ำลงโดยที่เพิ่มความสูงของชิลด์บังลมหน้า ขึ้นเพื่อเพิ่มความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ โดยเฉพาะเวลาที่ผู้ขับขี่ต้องก้มหมอบกับถังน้ำมัน จะทำได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม
- ไฟหน้าดีไซน์แนวตั้งตามเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮายาบูสะ แต่ปรับปรุงในส่วนความสว่างและการกระจายของแสงให้ดีขึ้น
- ไฟท้ายโฉมใหม่แบบ LED ทำให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น

เพิ่มเติมกับระบบ DMS – Suzuki’s Drive Mode Selector
สามขนาดเครื่องยนต์ในหนึ่งเดียว....
ระบบ DMS ใหม่ของซูซูกินี้ หรือ ที่ชื่อเต็มๆ ว่า Suzuki’s Drive Mode Selector นั้น ถือว่าเป็นแนวคอนเซ็ปท์ที่กำลังมาแรงในรถโมเดลใหม่ๆ ในตอนนี้ เพื่อจุดประสงค์ในการประหยัดพลังงานสูงสุด ซูซูกิได้เปิดตัวระบบนี้ใน Gixxer K7 มาแล้ว และ ก็จะเปิดตัวระบบนี้กับ ฮายาบูสะ 2008 ซึ่งก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกใส่เพิ่มเข้ามาในรถที่ถือว่าสุดยอดอยู่ แล้ว
สวิทช์ควบคุมการทำงานอยู่ที่แฮนด์ด้านขวาควบคุมได้ง่าย ระบบ DMS นี้สามารถปรับการทำงานได้ 3 แบบ หรือ 3 ระดับของการทำงานของเครื่องยนต์ โดยมีกล่อง ECU ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของวาล์วปีกผีเสื้อ เพื่อควบคุมแรงของเครื่องยนต์วาล์วปีกผีเสื้ออันแรกหรืออันปรกติ จะถูกควบคุมการทำงานโดยการเปิด-ปิดคันเร่งเหมือนระบบปรกติทั่วๆไป แต่สำหรับวาล์วปีกผีเสื้ออันที่สอง จะถูกควบคุมโดยกล่อง ECU ก็คือตามโหมดการทำงานที่เราได้เลือกไว้จากสวิทช์
ให้นึกภาพถึงม้าฝูงยักษ์ทั้งหมด 198 ตัว ที่อัดกันอยู่ในคอกพร้อมที่จะระเบิดแรงวิ่งออกมาข้างนอก โดยที่มีประตูคอกอยู่สองประตู ซึ่งก็เหมือนกับวาล์วปีผีเสื้อทั้งสองอันนั้น เราสามารถกำหนดการเปิดประตูได้โดยการใช้ผู้ดูแลคอกม้า ซึ่งก็คือกล่อง ECU นั่นเอง
โหมดการทำงาน A – คือการเปิดประตูคอกทั้งสองบาน หรือ ก็คือการเปิดวาล์วทั้งสองอันพร้อมกันเต็มที่ ซึ่งเครื่องยนต์ก็จะทำงานอย่างเต็มที่เต็มๆ ม้า
โหมดการทำงาน B – คือการเปิดประตูคอกบานที่ 2 แค่ 75% และ ECU จะเปิดวาล์วช้ากว่าปรกติ แต่ว่าก็ยังสามารถยัดให้ม้าทำงานได้ครบทุกตัว ได้เพียงแค่เปิดคันเร่งเกิน 75% ขึ้นไป ก็สามารถเรียกม้าได้ครบทุกตัว
โหมดการทำงาน C – ระบบจะอนุญาติให้ม้าออกมาทำงานในจำนวนที่จำกัดจำนวนหนึ่งเท่านั้น (แม้ว่าคุณจะเปิดคันเร่งสุดก็ตาม) เพราะ ECU จะควบคุมการเปิด-ปิดของวาล์วแบบช้าๆ และเปิดไม่สุด ทำให้กำลังสูงสุดในโหมดนี้ถูกจำกัดไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น